1854 จำนวนผู้เข้าชม |
“ไอ มอเตอร์แมนูแฟคเจอร์ริ่ง” บ.สัญชาติไทยลุยผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 100% ภายใต้แบรนด์ I Motor ขานรับนโยบายรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติรายแรก หนุนใช้ชิ้นส่วนในประเทศ เปิดพรีออร์เดอร์ พ.ย.นี้ ราคาเท่ารถใช้น้ำมัน ตั้งเป้ายอดผลิต 8,000 คัน นำร่องใช้ในหน่วยงานราชการ BOI ไฟเขียวนำเข้าชิ้นส่วนภาษี 0%
นายปรีชา ประเสริฐถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอ มอเตอร์แมนูแฟคเจอร์ริ่ง จำกัด ในเครือไอ มอเตอร์ ไทยแลนด์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากนโยบายรัฐที่สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดและลดภาวะฝุ่นละออง PM 2.5 ในฐานะผู้ผลิตรถจักรยานไฟฟ้า 100% สัญชาติไทย มีแผนผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ รุ่น Vapor จัดจำหน่ายภายใต้แบรนด์ I Motor เริ่มให้สั่งจองเดือน พ.ย.นี้ และผลิตไตรมาส 1 ปี 2566 ราคาใกล้เคียงรถจักรยานยนต์ที่ใช้น้ำมัน
“บริษัทตั้งเป้าผลิตลอตแรก 1,000-2,000 คัน/เดือน คาดความต้องการจะเพิ่มใน 5-6 เดือน และจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 8,000 คัน/เดือน โดยใช้หุ่นยนต์ AI ช่วยประกอบรถต้นแบบในโรงงานย่านบางนาก่อนย้ายไปที่ชลบุรี”
ใช้วัตถุดิบในประเทศ 85%
“I Motor รุ่น Vapor ถือเป็นรุ่นแรกและรายเดียวในไทยที่ผลิตและออกแบบโดยคนไทยทั้งหมด ใช้สิ้นส่วนที่ผลิตในไทย 85% ทำให้เกิด supply chain และการจ้างงาน สำหรับ Vapor มีกำลังขับ 3,000 วัตต์ แรงบิด 190 นิวตันเมตร ความเร็วสูงสุด 120 กม./ชม. ความเร็วเฉลี่ยในเมือง 75 กม./ชม. ระยะทางวิ่งต่อการชาร์จ 1 ครั้ง 100 กม. และจะพัฒนาให้ถึง 300 กม.ต่อการชาร์จ 1 ครั้งในอีก 2-3 ปีข้างหน้า”
“ผู้ผลิตที่เป็นคนไทยคู่แข่งมีหลายราย แต่เขาต่างตรงที่เขานำชิ้นส่วนเข้ามาแล้วมาประกอบในประเทศ ใช้ชิ้นส่วนในประเทศเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ เมื่อเรามีข้อได้เปรียบตรงใช้ชิ้นส่วนในประเทศมาก จึงทำให้เราเหนือกว่าคู่แข่งในด้านการทำตลาด โดยเฉพาะเรื่องราคาที่ไม่แพง เช่น หากเทียบกับฟีโน่ที่เติมน้ำมัน Vapor เราก็มีราคาไม่ต่างกัน และที่สำคัญรถเรามี 2 ระบบคือ แบตเตอรี่ จะใช้การชาร์จไฟก็ได้หรือใช้แบบถอดเปลี่ยนแบตฯก็ได้ หรือที่เรียกว่า การสวอบ ซึ่งตอนนี้ก็มีบางรายกำลังทำตู้เปลี่ยนแบตเตอรี่นี้ออกมาอย่าง บางจาก ปตท. และ กฟผ.
ล่าสุดเรามียอดจองก่อนหลังเปิดตัวไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วถึง 500 คัน แต่จะเปิดจองอย่างเป็นทางการคือเดือน พ.ย.นี้ แผนในอนาคตเราจะใช้ชิ้นส่วนในประเทศเต็ม 100% เพื่อให้คนไทยผู้ผลิตชิ้นส่วนได้ประโยชน์ที่สุด ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นเราก็จะเห็นการลงทุนอย่างพวกแบตเตอรี่เข้ามาลงทุนในไทย มีการพัฒนาเรื่องแบตฯ และจะเห็นการส่งเสริมการลงทุนเกิดดีมานด์ซัพพลายครบทั้งหมด และแน่นนอว่าไทยจะบรรลุเป้าหมายการเป็นฮับ EV”
ลุยขยายตลาดหน่วยงานรัฐ
บริษัทได้เสนอให้รัฐนำร่องการใช้จักรยานไฟฟ้าในหน่วยงานราชการ อย่างไปรษณีไทย กรมทหารต่าง ๆ รถตำรวจสายตรวจ และคุรุสภา เพื่อสร้างความมั่นใจและเกิดแรงกระตุ้นการใช้งานจริง ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้หารือกันโดยบริษัทขอให้สนับสนุนมาตรการเพิ่มเติมคือ ภาษีนำเข้าชิ้นส่วนสำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เครื่องจักร วัตถุดิบให้อยู่ที่ 0% ทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา
ทั้งกำหนดแผนดำเนินงานสำหรับการบริการหลังการขายไว้ด้วย ซึ่งปัจจุบันได้เข้าไปร่วมฝึกอบรมเรียนรู้การซ่อมชิ้นส่วน EV ให้กับนักเรียนระดับอาชีวะในสถาบันต่าง ๆ ทั้ง 76 จังหวัด เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนเหล่านี้มีความรู้และนำไปประกอบอาชีพ รวมถึงมีแผนดึงนักเรียนเหล่านี้เข้าเป็นหนึ่งในทีมบริการหลังการขายแบบ on site service และพัฒนาใช้แอปพลิเคชั่นในการแจ้งเพื่อขอรับการเข้าซ่อม
“แนวโน้มการใช้รถ EV เพิ่มขึ้นทุกวัน ที่คนกังวลคือ เรื่องแบตเตอรี่ที่ทำให้ราคารถแพง โจทย์นี้ผู้ผลิตจะต้องใช้เวลานำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย รัฐเองก็ช่วย”
กลุ่มไอ มอเตอร์ เป็นบริษัทผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในไทยนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันมีสายการผลิตมากกว่า 10 รุ่น อนาคตจะพัฒนารุ่นที่ใช้เทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่เป็นกราฟีนแบตเตอรี่ (graphene battery) และออร์แกนิกเซลล์แบตเตอรี่ (organic cell battery) ชาร์จแบตเตอรี่ด้วยโซลาร์เซลล์ และชาร์จแบบไร้สาย ซึ่งอยู่ใน motor hub ครบวงจรทั้งสำหรับรถ 2 ล้อ และ 4 ล้อ
ภาครัฐหนุนเต็มสูบ
นายกอบชัย ลังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะอนุกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน กล่าวว่า ไอ มอเตอร์ กรุ๊ปได้ให้ความร่วมมือและสนับสนุนโครงการการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐด้วยการผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติรุ่นแรก ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการขับเคลื่อนของประเทศ รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้มีศักยภาพการแข่งขันและกระตุ้นให้มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ถือเป็นแบบอย่างของภาคเอกชนในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าต่อไป โดยรัฐยินดีที่จะสนับสนุนเอกชนทุกด้าน ทั้งนี้ รัฐกำหนดว่ามีเป้าหมายในปี 2573 ยอดผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 650,000 คัน
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการ บีโอไอ กล่าวว่า มีนโยบายเป็นมาตรการสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท (xEV ประกอบด้วย รถไฮบริด HEV, ปลั๊กอินไฮบริด PHEV, แบตเตอรี่ไฟฟ้า BEV) ทั้งรถ 2 ล้อ 3 ล้อ 4 ล้อ รถบรรทุก เรือไฟฟ้า สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้านั้นบีโอไอให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี และสิทธิประโยชน์ทางภาษีชิ้นส่วนสำคัญ ๆ ได้แก่ แบตเตอรี่, มอเตอร์, drive control unit, battery management system และการวิจัยและพัฒนา (R&D)