865 จำนวนผู้เข้าชม |
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เทรนด์ “พลังงานทางเลือก” กลายเป็นหัวข้อที่ถูกพูดคุยอย่างจริงจังมากขึ้น โดยเฉพาะในวงการขับขี่ที่การเข้ามาทำตลาดอย่างเต็มรูปแบบของรถยนต์ไฟฟ้า ได้สร้างทางเลือกให้กับผู้ใช้งานในรูปแบบใหม่ๆ เปิดโอกาสให้ลูกค้ามองหายานพาหนะคู่ใจที่จะตอบโจทย์การใช้งานที่สุด
ผลที่ตามมาจากการที่ประเทศไทยเปิดประตูสู่ยานยนต์ไฟฟ้า คือการเติบโตของแนวคิดการสร้างสังคมที่ยั่งยืนซึ่งทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ผ่านการขับขี่ยานพาหนะพลังงานทางเลือก ด้วยเหตุดังกล่าว การสนับสนุน “Future Energy” ซึ่งมีทั้งการใช้งานพลังงานหมุนเวียน และการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ จึงกลายเป็นพันธกิจสำคัญที่มีทั้งหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชนจำนวนมากเข้ามารวมพลัง เกิดเป็นนโยบายและการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ สำหรับรองรับการใช้งานพลังงานทางเลือก เพื่อประโยชน์ทั้งในแง่ความมั่นคงทางพลังงาน และการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำอย่างเห็นผล
ในบทความนี้ไทยรัฐออนไลน์จึงอยากพาผู้อ่านเดินทางไปชมความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านเทรนด์ใช้งานพลังงานทางเลือกของประเทศต่างๆ รวมไปถึงแนวโน้มของประเทศไทย ว่าเรากำลังเดินหน้าสู่ทิศทางไหน ในโลกที่กำลังให้ความสำคัญกับพลังงานแห่งอนาคต
นอร์เวย์: เมื่อพลังงานทางเลือก กลายเป็นพลังงานหลัก
หากเอ่ยถึงประเทศที่มีการใช้งานยานยนต์พลังงานทางเลือกมากที่สุด สหรัฐอเมริกา และ จีน ย่อมเข้าเส้นชัยเป็นอันดับหนึ่งและสอง แต่นั่นเป็นเพราะประชากรในประเทศที่มีจำนวนมากกว่า อย่างไรก็ตามหากวัดกันที่สัดส่วน จะกลายเป็น “นอร์เวย์” ที่ขยับแซงขึ้นมาด้วยจำนวนเกินกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ หากเทียบกับประชากรซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมากจนน่าสนใจว่าทำได้อย่างไร?
ความสำเร็จในการผลักดันพลังงานทางเลือกของนอร์เวย์ เกิดจากความจริงจังอย่างมากของภาครัฐ ด้วยความที่ประเทศแห่งนี้ไม่ได้เป็นฐานที่มั่นในการผลิตรถยนต์ ทำให้รถทุกคันต้องนำเข้าทั้งหมด ดังนั้นรัฐจึงออกนโยบายยกเว้นภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า ไม่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และยังลดภาษีเงินได้ให้ค่ายรถยนต์ที่นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าลงเพื่อดึงดูดทั้งผู้นำเข้าและผู้ใช้งานไปพร้อมกัน เรียกได้ว่าราคาของรถยนต์เชื้อเพลิงกับรถยนต์ไฟฟ้าแทบไม่แตกต่างกันมากจนต้องคิดหนัก
ไม่เพียงเท่านั้น นอกจากนโยบายราคา ผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้ายังจะได้รับสิทธิพิเศษอีกมากมาย อาทิ ค่าต่อภาษีประจำปีที่ถูกกว่า, ขึ้นทางพิเศษ เรือเฟอร์รี่ และจอดรถในเมืองครึ่งราคา เป็นต้น นอกจากนี้สิ่งที่ดำเนินการไปควบคู่กันก็คือการสร้างสถานีบริการพลังงานให้เพียงพอและสอดคล้องไปกับนโยบายจูงใจ จนในปัจจุบันพลังงานทางเลือกได้กลายเป็นพลังงานหลักของชาวนอร์เวย์ไปแล้วเรียบร้อย จากส่วนแบ่งตลาดที่ขึ้นไปแตะระดับ 60 เปอร์เซ็นต์ในเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา
ไต้หวัน: ภารกิจเปลี่ยนมอเตอร์ไซค์แสนคันสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ด้วยไอเดียจากสตาร์ทอัพ
ไต้หวันเป็นเมืองใหญ่ของเอเชียที่มีปริมาณการใช้งานมอเตอร์ไซค์ขนาดเบาหรือรถสกู๊ตเตอร์เป็นจำนวนมากลำดับต้นๆ โดยมีอัตราส่วนประชากร 2 คนต่อสกู๊ตเตอร์ 1 คัน แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาคืออัตราสิ้นเปลืองพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลมหาศาล และการสร้างมลภาวะในหลากหลายรูปแบบทั้งทางอากาศ หรือแม้กระทั่งเสียงจากเครื่องยนต์ที่พร้อมตะลุยไปทุกมุมถนน
ด้วยเหตุดังกล่าว ภารกิจเปลี่ยนท้องถนนให้เป็นมิตรกับการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนจึงเริ่มต้นขึ้น อาทิ ความจริงจังในการตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 50 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2050 การผลักดันพลังงานทางเลือกจากพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม รวมไปถึงให้ความสนับสนุนนวัตกรรมใหม่ๆ จากหน่วยงานน้อยใหญ่ จนความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมเริ่มเกิดขึ้นในปี 2011 เมื่อสตาร์ทอัพเล็กๆ ที่ชื่อ “Gogoro” ได้ถือกำเนิดและเปลี่ยนวัฒนธรรมยานยนต์ในตัวเมืองไต้หวันอย่างสิ้นเชิง
“Gogoro” คือแพลทฟอร์มที่เข้ามาลบจุดอ่อนของสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าดั้งเดิม ด้วยการให้บริการ “สลับ” แบตเตอรี่ เท่ากับว่าผู้ใช้งานไม่ต้องกังวลกับความล่าช้าในการชาร์จไฟ ไม่ต้องกลัวพลังงานจะหมดระหว่างทาง ด้วยจำนวนสถานีที่มีมากมายไม่ต่างจากปั๊มน้ำมัน และนับจากนั้นเป็นต้นมาการสลับแบตเตอร์รี่ก็กลายเป็นความเคยชินของชาวไต้หวัน จนในปัจจุบันมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าสามารถครองส่วนแบ่งการตลาดยานยนต์ไปได้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์
ประเทศไทย: ออกยืนที่จุดสตาร์ท พร้อมทะยานสู่อนาคต
เห็นได้ชัดว่าความสำเร็จของ 2 ประเทศข้างต้นเกิดจากความมุ่งมั่นที่จะยกระดับยานยนต์พลังงานทางเลือกให้สามารถจับต้องได้จริง และตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตประจำวันได้ทุกรูปแบบโดยไม่ต้องกังวลว่าหากถอยยานยนต์ไฟฟ้าสักคันจะสร้างความลำบากอย่างไรให้ชีวิตบ้าง
ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย กล่าวได้ว่าการเดินหน้าไปสู่เทรนด์พลังงานทางเลือกของเรากำลังอยู่ในช่วงตั้งไข่อย่างมั่นคง สังเกตได้จากการเข้ามาของยานยนต์ไฟฟ้าที่สามารถเลือกซื้อหาในราคาจับต้องได้มากขึ้น รวมไปถึงการเกิดขึ้นของสถานีชาร์จไฟที่เกิดจากความร่วมมือของหลายหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน ไม่เพียงเท่านั้น การเกิดขึ้นของ “บอร์ด EV” หรือ คณะกรรมการนโยบายรถยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ยังมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ประตูสู่การเป็นประเทศแห่งพลังงานทางเลือกมีความชัดเจนขึ้น จากนโยบายหลักที่มีการเปิดเผยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพื่อผลักดันจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าให้ทั่วถึงมากขึ้น โดยมีแผนงานทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ไปจนถึงปี 2578 ที่มีเป้าหมายคือจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียน 15.5 ล้านคัน
ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุดของกระทรวงคมนาคมระบุไว้ว่า จำนวนรถยนต์ที่จดทะเบียนทั่วประเทศ ในปัจจุบันมีจำนวนราว 41 ล้านคัน โดยมีครึ่งหนึ่งเป็นรถจักรยานยนต์ ขยับเข้ามาที่กรุงเทพฯซึ่งมีการใช้งานรถยนต์หนาแน่นที่สุด ระบุไว้ว่ามีรถยนต์นั่งส่วนบุคคล 4.5 ล้านคัน และรถจักรยานยนต์ 3.6 ล้านคัน ซึ่งการเข้ามาของยานยนต์พลังงานทางเลือก ย่อมจะช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงาน เพื่อรองรับการเติบโตของประเทศในอนาคต
“Swap & Go” แพลทฟอร์มสลับแบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ประตูสู่ยุค Future Energy สมบูรณ์แบบ
นอกเหนือไปจากนโยบายของบอร์ด EV ทางด้านภาคเอกชนหลายๆ แห่ง ก็ยังเป็นอีกพลังขับเคลื่อนที่พร้อมช่วยเหลือให้ประเทศไทยเดินหน้าไปสู่เส้นทางที่คาดหวัง อาทิ โครงการที่น่าจับตาไม่น้อยจากองค์กรพลังงานและนวัตกรรมอย่าง “ปตท.” ที่ล่าสุดเพิ่งเปิดตัว “Swap & Go” ผู้ให้บริการสถานีสลับแบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแบบไม่ต้องรอชาร์จ ที่มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของยุคสมัยแห่ง Future Energy ที่ใช้งานได้จริง
จากสถิติจำนวนรถยนต์จดทะเบียนในกรุงเทพฯ สิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยคือจำนวน “รถมอเตอร์ไซค์สาธารณะ” ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 1 แสนคัน ประกอบกับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของกลุ่มพนักงานส่งอาหารในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ก็ยิ่งทำให้จำนวนมอเตอร์ไซค์ในเมืองใหญ่ทวีจำนวนมากขึ้นไปกว่าเดิม
ด้วยเหตุดังกล่าว ทางด้าน ปตท. ซึ่งให้ความสำคัญกับนวัตกรรมพลังงานเพื่อโลกและสังคม และเล็งเห็นความต้องการภายในอุตสาหกรรม Delivery ที่จำเป็นต้องมียานยนต์ที่ใช้งานได้คล่องตัว ต่อเนื่อง และดูแลรักษาง่าย ไอเดียนี้จึงถูกต่อยอดกลายเป็นแพลทฟอร์ม “สลับแบตเตอรี่สำหรับผู้ใช้งานมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแบบไม่ต้องรอชาร์จ” ที่ครอบคลุมเป้าหมายหลากหลายด้านในบริการเดียว ไม่ว่าจะเป็นการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอน สร้างสังคมที่เป็นมิตรกับธรรมชาติอย่างยั่งยืนเพื่อสอดรับไปกับปริมาณผุ้ขับขี่ที่กำลังเพิ่ม
นอกเหนือไปกว่านั้น จุดเด่นที่เรียกได้ว่าโดนใจผู้ใช้งานที่สุดก็คือความ ง่าย-ไว-สะดวก ตามคอนเซ็ปต์ “สลับไว ไปได้เร็ว” ของกระบวนการสลับแบตเตอรี่ ซึ่งผู้ใช้งานจะเสียเวลาเพียงไม่ถึง 3 นาทีเท่านั้นในขั้นตอนการเปลี่ยน เพียงถอดแบตลูกเดิมออกมาเสียบที่สถานี จากนั้นก็ดึงแบตเตอรี่ลูกใหม่ไปใช้งานได้ทันที พร้อมกันนี้แบตเตอรี่ลูกเดิมก็จะทำการชาร์จเพื่อรอให้ผู้ใช้บริการรายต่อไปมาสลับไปใช้
โดยบริการนี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มากทั้งในส่วนของพลังงานและการบำรุงรักษา ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับ Delivery Man ที่ต้องการความต่อเนื่องในการใช้งาน ไม่ต้องยุ่งยากกับการดูแล