GPS Tracking

733 จำนวนผู้เข้าชม  | 

GPS Tracking

GPS Tracking และรูปแบบของ GPS Tracking ที่ใช้กับยานพาหนะ


เทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้นนอกจากจะช่วยทำให้ชีวิตของผู้คนสะดวกสบายมากขึ้นแล้ว ยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยและช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ อย่างเช่นเทคโนโลยี GPS Tracking ที่ใช้ในการบันทึกข้อมูลการเดินทางและการใช้งานของรถ โดยใช้ระบบกำหนดตำแหน่งพื้นที่บนพื้นผิวโลกที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการทำงานของรถ และยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับรถรวมทั้งผู้โดยสาร ที่สำคัญคือ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการระบบขนส่งและธุรกิจโลจิสติกส์อีกด้วย

GPS Tracking คืออะไร


GPS Tracking เป็นระบบติดตามตำแหน่งด้วยดาวเทียม โดยจะมีการติดตั้งตัว Tracker หรืออุปกรณ์ติดตามเอาไว้ที่ยานพาหนะ สินค้า หรือแม้แต่บุคคลที่ต้องการจะติดตาม จากนั้นจะใช้ระบบ GPS หรือ Global Positioning System ที่ใช้วิธีการคำนวณหาตำแหน่งบนพื้นโลก

โดยอาศัยตำแหน่งของดาวเทียมในการอ้างอิงซึ่งมีความแม่นยำอยู่ในระดับสูงที่ช่วยชี้พิกัดของยานพาหนะ บุคคลหรือสินค้า ที่ต้องการติดตามได้โดยมีความคลาดเคลื่อนเพียงไม่เกิน 100 เมตร ขึ้นอยู่กับคุณภาพของอุปกรณ์รับสัญญาณ จึงมีประโยชน์อย่างมากในการติดตามตำแหน่ง ช่วยด้านการค้นหา รวมถึงใช้ในการวางแผนเพื่อกำหนดเส้นทางในการเดินทางเพื่อช่วยประหยัดเวลา เชื้อเพลิง รวมทั้งดูแลความปลอดภัยได้อย่างดีที่สุด

ระบบ GPS ของ GPS Tracking ระบุตำแหน่งได้อย่างไร


ระบบ GPS เป็นระบบระบุตำแหน่งบนพื้นโลกที่ใช้วิธีการคำนวณความถี่ของสัญญาณนาฬิกาที่ส่งมาจากดาวเทียมที่โคจรอยู่ตามตำแหน่งต่างๆ ของโลก จึงทำให้สามารถระบุตำแหน่งของสิ่งที่ต้องการค้นหา และยังสามารถคำนวณความเร็วและทิศทางต่างๆ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์สำหรับการทำแผนที่และการนำทางอีกด้วย

โดยดาวเทียมที่ทำหน้าที่นำร่องเพื่อระบุตำแหน่งที่รู้จักกันดีคือ Navstar ซึ่งเป็นของอเมริกาและนอกจากนี้ก็ยังมีดาวเทียม GPS ต่างๆ อีกหลายดวงแต่ส่วนใหญ่แล้วประกอบไปด้วยดาวเทียมจาก 3 ประเทศหลักคือ อเมริกา ยุโรปและรัสเซีย ที่ส่งข้อมูลมายังส่วนควบคุมที่สถานีภาคพื้นดิน รวมถึงเครื่องรับสัญญาณซึ่งทำหน้าที่ในการรับคลื่นและแปลรหัสจากดาวเทียมเพื่อประมวลผลข้อมูลก่อนนำมาใช้งาน

GPS Tracking ทำได้มากกว่าการส่งข้อมูลบอกตำแหน่ง
อุปกรณ์ GPS Tracker ในปัจจุบันสามารถนำมาประยุกต์ใช้งานเพิ่มเติมได้หลากหลาย หากนำอุปกรณ์มาเชื่อมต่อกับ อุปกรณ์ไฟฟ้าของรถยนต์ ก็สามารถบันทึกหรือเรียกดูข้อมูลต่างๆจาก Sensors อื่นๆได้ เช่น วัดอุณหภูมิ, วัดแรงดันไฟฟ้า, อ่านข้อมูลจากระบบอื่นๆภายในรถ เช่นระดับน้ำมัน ข้อมูลเหล่านี้นอกจากจะดูได้แบบ Real Time แล้วนั้น ยังสามารถเก็บข้อมูลไว้ดูย้อนหลังเพื่อนำไปใช้งานได้ต่อไป

GPS Tracking กับการเชื่อมต่อระบบเครือข่ายไร้สาย Internet เพื่ออะไร?
ในยุคที่อินเตอร์เน็ตเป็นสิ่งที่เป็นสื่อกลางในการสื่อสารและรับส่งข้อมูล อินเตอร์เน็ตยังสามารถทำหน้าที่ให้สามารถเชื่อมต่อกับระบบ GPS Tracking เพื่อรับส่งพิกัด ตำแหน่ง หรือข้อมูลต่างๆที่บันทึกมาได้ ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต และส่งไปยังผู้ใช้งานโดยตรงหรือส่งผ่านไปยังผู้ให้บริการ GPS Tracking และเก็บข้อมูลเข้า Server เพื่อบันทึก วิเคราะห์ และแสดงข้อมูลต่างๆ ที่คุณสามารถเข้าไปดูได้ตลอดเวลา

องค์ประกอบของระบบ GPS Tracking
อุปกรณ์ที่ใช้ในการรับสัญญาณและประมวลผลจากดาวเทียมด้วยเทคโนโลยี GPS Tracking ได้รับการพัฒนาขึ้นมาอย่างมาก จากที่เพียงแค่ใช้ในการระบุตำแหน่งหรือพิกัดได้อย่างแม่นยำก็ยังมีความสามารถในการระบุตำแหน่งได้แบบ Real time หรือตำแหน่งตามเวลาจริงในปัจจุบัน โดยระบบ GPS Tracking นี้ประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลักคือ

อุปกรณ์ GPS Tracking หรือที่มักจะเห็นกันในรูปแบบกล่อง GPS ที่ใช้กันอยู่ทั่วไป ซึ่งจะมีการนำกล่องนี้ไปวางหรือไปติดตั้งไว้ที่ยานพาหนะหรือทรัพย์สินที่ต้องการติดตามตำแหน่ง ซึ่งตัวกล่อง GPS นี้จะมีเสาสัญญาณที่จะทำหน้าที่ส่งข้อมูลผ่านช่องสัญญาณ GPRS ไปยัง Server ที่ทำหน้าที่รับข้อมูล

ระบบ Server ที่ทำหน้าที่ในการรับข้อมูลจากอุปกรณ์ GPS Tracking และ Software ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้ในการประมวลผล โดยจะมีการทำงานใน 2 ระบบคือ Server ที่จะต้องเปิดทำงานตลอด 24 ชั่วโมงและต้องจัดวางเอาไว้ในที่ที่มีความปลอดภัยสูงพร้อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วสูงและมีความเสถียร ส่วนอีกระบบคือ Software ที่ทำหน้าที่ในการประมวลผลและจัดการข้อมูล ซึ่งหากใช้ระบบ Software ที่ดีก็จะทำให้การเข้าถึงข้อมูลเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและมีความถูกต้องแม่นยำสูงด้วย

การจัดการยานพาหนะด้วย GPS Tracking System
การจัดการการดำเนินการกองยานพาหนะ ที่คุณจำเป็นต้องดูแลรถหลายคัน หรือต้องการติดตามประเมินผล ก็สามารถทำได้อย่างดายด้วย ระบบติดตามที่ผู้ให้บริการต่างๆพัฒนาขึ้นมา การติดตามยานพาหนะแบบออนไลน์ผ่านการเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต GPS Tracking จะแสดงผลที่ได้รับข้อมูลตำแหน่ง รวมไปถึง ความเร็วของรถในขณะนั้น และระบบเซนเซอร์ภายในและนอกตัวรถ

ประโยชน์ของระบบ GPS Tracking


ปัจจุบันได้มีการนำ GPS Tracking มาใช้ในการติดตามรถยนต์ส่วนตัวเพื่อเหตุผลในด้านของความปลอดภัยและช่วยในการวางแผนเส้นทาง นอกจากนี้ธุรกิจโลจิสติกส์และขนส่งต่างๆ ก็ได้มีการนำ GPS Tracking มาใช้ประโยชน์เช่นกัน ซึ่ง GPS Tracking ก็มีประโยชน์หลักในการใช้งานดังต่อไปนี้
  • เพิ่มประสิทธิภาพในการติดตามยานพาหนะ เพราะผู้ดูแลระบบสามารถติดตามตำแหน่งของยานพาหนะที่กำลังใช้งานอยู่ได้อย่างแม่นยำ เพื่อการบริหารจัดการการใช้งานยานพาหนะได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • เพิ่มความพึงพอใจให้กับลูกค้าในธุรกิจรถรับส่งและแท็กซี่ เพราะช่วยสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยในการเดินทาง ทำให้ทราบได้ว่ามีรถรับส่งที่ใกล้ที่สุดอยู่ตรงไหนบ้างเพื่อที่จะได้เรียกใช้งานได้อย่างสะดวกและรับประกันการเดินทางอย่างปลอดภัย
  • ติดตามการทำงานของรถในธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ เพื่อที่จะได้แน่ใจว่ารถแต่ละคันมีการเดินทางไปตามเส้นทางที่กำหนด ไม่ออกนอกเส้นทาง และสามารถเดินทางได้อย่างปลอดภัยไปถึงปลายทางได้ตามเวลาที่กำหนด
  • ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของรถขนส่ง อย่างเช่นในช่วงเวลาเร่งด่วนที่การจราจรติดขัด หรือรถขนส่งที่เดินทางไปยังพื้นที่ที่เส้นทางค่อนข้างสลับซับซ้อน ทำให้การเดินทางต้องล่าช้าเสียเวลาและเปลืองน้ำมันมาก การใช้ระบบ GPS Tracking จะทำให้ผู้ดูแลระบบสามารถจัดการเส้นทางเพื่อให้รถขนส่งเดินทางไปยังปลายทางได้อย่างรวดเร็วที่สุด ไม่เสียเวลากับการเดินทางไปกับพื้นที่ที่รถติดมากหรือหลงทาง ช่วยประหยัดน้ำมัน ประหยัดเวลา และสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้มาก
  • ใช้ในการวางแผนเส้นทาง ระบบ GPS Tracking ส่วนใหญ่มีฟีเจอร์ Geofencing ที่ช่วยตรวจสอบการเคลื่อนไหวของวัตถุภายในขอบเขตที่ต้องการในระยะเวลาที่กำหนดล่วงหน้า จึงทำให้ผู้ดูแลระบบสามารถกำหนดเส้นทางในการขับขี่ของรถขนส่งหรือยานพาหนะไว้ล่วงหน้าได้ และเมื่อไหร่ก็ตามที่รถวิ่งออกนอกเส้นทางหรือขอบเขตที่กำหนดจะมีการแจ้งเตือนไปยังรถหรือยานพาหนะคันนั้นทันที

ระบบ GPS Tracking เป็นระบบที่ช่วยในการระบุตำแหน่งที่ถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงสามารถนำระบบนี้มาใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย ช่วยเสริมสร้างความปลอดภัยในการเดินทางและเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจโลจิสติกส์และขนส่งได้มากขึ้น

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้